“กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” คำกล่าวบนป้ายที่ใครก็คุ้นเคย หลายคนอาจคิดว่าชีวิตในกรุงเทพไม่ได้ลงตัวเท่าไรนัก ทั้งรถติด บ้านเรือนแออัด อากาศมีฝุ่น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองโตเดี่ยว’ ทำให้คนจากทุกแหล่งแห่งที่ในไทยต้องเดินทางมาหาโอกาสกันจนแออัด
คำว่า ‘เมืองโตเดี่ยว’ พูดง่ายๆ ก็คือ เมืองที่โตอยู่เมืองเดียวในประเทศ มีประชากรมากกว่าเมืองรองอื่นแบบนำไปไกลลิบ อย่างไทยก็มีกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ อยู่แค่เมืองเดียว ไม่ได้กระจายความเจริญไปหาเมืองอื่น
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองโตเดี่ยวมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก จนล่าสุด ธนาคารโลกหรือ World Bank ได้เผย “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ปลดล็อคศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง” บอกว่ากรุงเทพฯ อาจจะเป็นเมืองที่เติบโตเต็มที่และอิ่มตัวแล้ว ทำให้ไทยต้องหันไปใส่ใจในศักยภาพของเมืองรองแทน
อิ่มตัวแค่ไหน ลองมาดูตัวเลขให้เห็นชัดขึ้นกันอีกหน่อย
การเติบโตของ GDP ต่อหัวในเมืองรองของไทยล่าสุดแซงหน้ากรุงเทพฯ ไปแล้วเกือบ 15 เท่า
เมืองรองสามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มจำนวนประชากร เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มากกว่ากรุงเทพฯ มาก เห็นได้ชัดว่ามีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก เป็นศูนย์กลางที่่จะเพิ่มโอกาสให้คนและธุรกิจได้ แถมยังช่วยลดความยากจนในชนบทนอกกรุงเทพฯ ได้ด้วย ขณะที่เมืองหลวงเองเริ่มเติบโตจนถึงจุดอิ่มตัว
ทำไมต้องดันเมืองรอง?
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเจริญกระจุกตัวได้ชัดเจน คือ เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2011 ที่เห็นได้เลยว่า กรุงเทพฯ เป็นที่กระจุกตัวของอุตสาหกรรม พอเกิดน้ำท่วม ธุรกิจก็เสียหายกันไปเป็นโดมิโน่ ถึงเวลาแล้วที่ไทยจำเป็นต้องมีฐานเศรษฐกิจแบบกระจายตัวออกไป
ที่สำคัญ เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาให้จบ ครบ ภายในเมืองเดียวได้ ต้องอาศัยเมืองอื่นที่ทำหน้าที่ต่างกัน
อย่างกรุงเทพฯ ทำให้ที่ให้บริการเรื่องธุรกิจระดับโลกและการดำเนินงานของภาครัฐ ขณะที่เมืองรองอื่นเหมาะจะเป็นเมืองอุตสสาหกรรม เมืองกิจกรรมมากกว่าเพราะหลายเมืองก็มีบทบาททางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ถ้าดึงศักยภาพออกมาได้อีกก็จะดีมากกว่าเดิม
ปัญหาของเมืองรอง
ปัญหาสำคัญของบรรดาเมืองรองอยู่ตรงที่ว่าต้องพึ่งพารายได้ส่วนกลางอย่างมาก ไม่มีอำนาจในการวางแผนเรื่องพื้นที่ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทางเองได้จำกัด กำหนดนโยบายการคลังได้แค่เล็กน้อย ทำให้ต้องรองบประมาณประจำปีจากส่วนกลางเป็นท่อน้ำเลี้ยงทางเดียว
การผลักดันเมืองรองจะนำมาสู่อำนาจของท้องถิ่นที่จะสรรเงินได้ ทำให้มีเงินหมุนเวียนมาพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ มากขึ้น และใช้นโยบายการคลังที่จำเป็นได้ด้วย เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พอมีเครื่องมือด้านรายได้ก็นำไปสู่การกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของเมืองได้สะดวกมากขึ้น
การมีรายได้ภายในเมืองรองจะช่วยปลดล็อกแม่กุญแจต่อมา คือ เมื่อมีรายได้เพียงพอและน่าเชื่อถือก็จะเข้าถึงการกู้ยืมเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นได้ ซึ่งการกู้ยืมเงินของเทศบาลและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนก้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการเข้าถึงเงินทุนที่เหมาะสม
ลงมือวันนี้ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน
ความท้าทายของการผลักดันเมืองรองอยู่ตรงที่ว่า ต่อให้รัฐบาลยอมรับในหลักการแล้วก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้เลยเพียงชั่วข้ามคืน หรือใช่ว่าจะปรับเปลี่ยนตรงนู้นนิดตรงนี้หน่อยก็เป็นอันใช้ได้
ตรงกันข้าม การดันเมืองรองมารับไม้ต่อจากกรุงเทพฯ ต้องอาศัยทั้งการเปลี่ยนกฎหมาย การวางแผน การดำเนินงานที่กินเวลาหลายปี
ไทยต้องใช้เวลาในการวางรากฐานเมืองรองให้แข็งแรงเสียก่อนผ่านการพัฒนาความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ความต้องการชุมชนได้สม่ำเสมอ
การเปลี่ยนของนโยบายการคลังยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันให้ อปท. มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการวางแผนในหลายเรื่องทั้งที่ดิน ที่อยู่อาศัย แรงงาน และการขนส่ง พอได้แผนแล้วก็ยังมีเรื่องการดำเนินการอีกที่จะต้องให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แนวคิดของ ‘หลักการอุดหนุน’ แบบสหภาพยุโรป ที่ให้รัฐบาลปฏิบัติงานขั้นพื้นฐานให้ใกล้เคียงกับพลเมืองมากที่สุด เรื่องไหนที่รัฐบาลท้องถิ่นทำได้ ก็ควรปล่อยให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ
เพราะการปลดล็อกศักยภาพของเมืองรองมีอะไรที่รัฐบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำหลายอย่าง เรียกว่าเป็นงานใหญ่และใช้เวลานาน การเริ่มต้นให้เร็วที่สุดก็อาจจะเป็นทางที่ดีต่อไทยมากที่สุดในยุคของการอิ่มตัวของเมืองหลวง
ที่มา – World Bank / Brand Inside